กบง.มั่วมติโซลาร์รูฟท็อปเสรี ‘ดุสิต’จี้ให้แก้ขายไฟเข้าระบบได้ ไม่ใช่ติดตั้งใช้เอง

“ดุสิต”โต้กระทรวงพลังงาน คาดเคลื่อนข้อมูลโซลาร์รูฟท็อปเสรี ชี้กระแสไฟฟ้าเดิน 2 ทาง สามารถขายไฟเข้าระบบในราคาขายปลีกชั่วคราวได้ ยันไม่ประกาศนโยบายประชาชนลงทุนเองได้อยู่แล้ว และไม่ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ จี้ให้แก้ไขมติกบง.ใหม่ ก่อนชง กพช.เห็นชอบ 11 ม.ค.นี้ และให้อุดหนุนใช้สินค้าในประเทศก่อน แนะรัฐงัดมาตรการภาษีเข้าช่วยผู้ประกอบการแผงโซลาร์เซลล์ไทย

นายดุสิต เครืองาม ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและอาคาร(โซลาร์รูฟท็อป) เสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้เองไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้นั้น

โดยทางสมาคมเห็นว่า นโยบายที่ออกมาถือว่าคาดเคลื่อนจากที่ทางสมาคมเสนอไป ทำให้ประชาชนที่สนใจจะติดตั้งมีความสับสน เพราะหากไม่ประกาศออกมาในลักษณะนี้ประชาชนก็ลงทุนติดตั้งได้เองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปออกระเบียบและให้มาสมัครเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ แนวทางของ สปช.ที่เสนอไป ในการส่งเสริมโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้น จะเน้นสำหรับใช้ในบ้านที่พักอาศัยและอาคารเป็นหลัก แต่ในช่วงกลางวันหรือช่วงที่ไม่อยู่บ้านนั้น จะมีกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ไหลย้อนเข้าระบบได้ ซึ่งหมายถึงมิเตอร์ไฟฟ้าจะย้อนถอยหลังเท่ากับว่าเป็นการขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคาขายปลีก อาทิ ราคาไฟฟ้าที่รับซื้อจากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ราคาไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปเสรีก็จะอยู่ในระดับเดียวกัน และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามิเตอร์ไฟฟ้าก็จะเดินหน้าตามปกติ เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลที่กระทรวงพลังงานสื่อสารที่จะไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่เข้าระบบนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขก่อนที่จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 11 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตามมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี ควรเน้นใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการของไทย 5 ราย มีกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ประมาณ 500 เมกะวัตต์ต่อปี โดยภาครัฐอาจใช้มาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ หากเลือกใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น เพราะหากไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่เป็นที่นิยม แม้ว่าคุณภาพจะสูงกว่าก็ตาม เพราะมีราคาสูงกว่าสินค้าจากจีน

“การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี สปช. เคยเสนอในส่วนของบ้านที่พักอาศัย 5 พันเมกะวัตต์ ใน 20 ปี หรือประมาณ 250 เมกะวัตต์ต่อปี และอาคารพาณิชย์ 1 หมื่นเมกะวัตต์ หรือ 500 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งกระทรวงพลังงานนำร่อง 100 เมกะวัตต์เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้โซลาร์รูฟท็อปเสรียังไม่ต้องให้รัฐแบกรับภาระซื้อไฟฟ้าเหมือนกับโซลาร์รูฟท็อปที่เคยเปิดไปก่อนหน้านี้ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย แต่ในช่วงที่ไม่อยู่บ้าน ไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตตอนกลางวันจะต้องไหลเข้าระบบได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานควรสื่อสารประชาชนให้เข้าใจ แต่ยอมรับว่าในส่วนของมิเตอร์ไฟฟ้าในช่วงสิ้นเดือนหากตัวเลขน้อยกว่าเดือนก่อน รัฐไม่ต้องจ่ายเงินคืน”นายดุสิต กล่าว

นายดุสิต กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร เฟสแรก 600 เมกะวัตต์ ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทาง กพช. ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ สมาคมเห็นว่าหากกีดกันสินค้านำเข้าอาจไม่เกิดความเป็นธรรม แต่ควรหามาตรการส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน โดยกระทรวงการคลังสามารถนำโมเดลรถยนต์คันแรกมาใช้ในโครงการดังกล่าวได้ อาทิ หากโครงการที่เลือกใช้แผงเซลล์ที่ผลิตในประเทศ จะได้ลดหน่อยภาษี หรือเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าฟีดอินทาริฟอีกเล็กน้อย จากปกติอยู่ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

http://www.thansettakij.com/content/34075

Leave a Comment